ทีมรถประหยัดน้ำมัน “Virgin” ตัวแทนประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากเอ.พี.ฮอนด้าและไออาร์ซี ที่ไปร่วมศึกการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิงครั้งที่ 35 ชิงถ้วย โซอิชิโร ประเทศญี่ปุ่น แม้จะทำดีที่สุดในอันดับ4 รุ่นNew challenge อย่างไรก็ตามสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ด้วยการคว้าแชมป์ Good Design Award ด้วยรถหมายเลข 508ที่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ35ปีของการจัดการแข่งขัน
ทีม “Virgin” จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนครได้ฝ่าด่านระดับประเทศไทย ด้วยรางวัลชนะเลิศสถิติสูงสุดประเภทรถประดิษฐ์ พร้อมทำสถิติ 1,473.954 กม./ลิตร ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต จ.นครปฐม รับถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรายการฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง 2015พร้อมคว้าสิทธิ์ไปร่วมแข่งขันระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิงครั้งที่ 35ชิงถ้วยโซอิชิโรที่ประเทศญี่ปุ่น แบ่งการแข่งขันออกเป็น7 รุ่นคือ กลุ่มที่ 1 (ระดับ มัธยมต้น ม.1-3), กลุ่มที่ 2 (ระดับ มัธยมปลาย ม.4-6), กลุ่มที่ 3 (ระดับมหาวิทยาลัย, อนุปริญญา, วิทยาลัยเทคนิค(ปวช. ปวส), วิทยาลัยอาชีวศึกษา), กลุ่มที่ 4 (ระดับประชาชนทั่วไป), New challenge class (50cc - 150cc), รุ่นขับขี่ 2 คน(มีคนขับและมีคนนั่ง) และรุ่นรถจักรยานยนต์ฮอนด้า 4จังหวะ 50cc รวมทุกรุ่นมีทีมร่วมการแข่งขันเกือบ 400 ทีมจากทั่วประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีทีมแข่งจากต่างประเทศ ทั้งไทย จีน เวียดนาม เข้าร่วมแข่งขันด้วย ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ร่วมชมการแข่งขันกว่า 5,000คน
สำหรับการแข่งขันเริ่มต้นตั้งแต่วันซ้อม โดยทีมไทยนำรถเข้าซ้อมตามปกติภายใต้การควบคุมทีมของอาจารย์ประมวลที่สนามทวินริง โมเตกิ ประเทศญี่ปุ่นโดยสถิติที่ทำได้อยู่ที่ 933.51 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าไม่ดีนัก ขณะที่อาจารย์ประมวลชี้แจงว่า มีปัญหาที่ลูกปืนแบริ่งล้อหน้าฝืดทำให้รถไม่ไหล ทางทีมงานก็รีบทำการแก้ไขปัญหากันจนได้รับความช่วยเหลือแบริ่งใหม่จากทีมเวียดนาม ถือเป็นน้ำใจของเพื่อนบ้านใกล้เคียง
รุ่งขึ้นในวันแข่งขันจริง ได้รับเกียรติจาก ทาคาฮิโร่ ฮาชิโกะ ซีอีโอ คนใหม่ของ ฮอนด้า มอเตอร์มาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน โดยทีมไทยพกความมั่นใจมาเต็มร้อย พร้อมลงสนามเพื่อสร้างชื่อในระดับนานาชาติ ส่วนสภาพอากาศในวันนี้ค่อนข้างร้อนอบอ้าว ลมนิ่งสนิท และในที่สุดขณะวิ่งไปได้แค่ 4รอบสนามก็เกิดปัญหาเดิมตามมาคือ ล้อฝืดรถวิ่งไม่ออกแต่นักแข่งก็ประคองจนจบการแข่งขัน ทำให้ผลการแข่งขันออกมาได้แค่เพียงอันดับสี่ในรุ่น New challenge (50-150cc) ด้วยสถิติประหยัดน้ำมันสุดๆ 1 ลิตรวิ่งได้ 913.015 กิโลเมตรเท่านั้น
ในครั้งนี้ทีมงานทุกคนต่างผิดหวังที่พลาดโอกาสนำธงชาติไทยไปโบกสบัดบนแดนอาทิตย์อุทัยเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่พิธีประกาศผลมอบรางวัล ทางพิธีกรได้ประกาศรางวัลให้กับทีม Virgin จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร สามารถคว้ารางวัล “ดีไซน์ยอดเยี่ยม” หรือ Good Design Award ไปครองได้เป็นผลสำเร็จ สร้างความดีใจให้กับทีมไทยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสามารถนำธงไตรรงค์โบกสบัดได้อย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก ซึ่งรางวัลนี้ผู้จัดมอบให้กับรถเพียงคันเดียวเท่านั้น จากทีมทั้งหมดที่เข้าแข่งขันเกือบ 400 ทีม และยิ่งไปกว่านั้น รางวัลนี้ไม่เคยตกเป็นของทีมจากต่างประเทศเลยเป็นเวลากว่า34ปี เพราะรถแข่งถูกออกแบบได้ถูกหลักแอโร่ไดนามิกส์มากที่สุดในเอเชีย
ด้านเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจจากการสังเกตไปรอบๆ สนามที่เต็มไปด้วยเต๊นท์ของทีมแข่งเกือบทั้งหมด พบว่ารถประดิษฐ์ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมแข่งขันใช้ยางไออาร์ซี อีโครัน 65% รองลงมาเป็นมิชลิน 25% และอื่นๆ อีก 10% ซึ่งใน65% ของไออาร์ซี อีโครันนั้นแบ่งเป็นขอบ 20นิ้ว ประมาณ 80% และเป็นขอบ 14นิ้ว อีก 20%
จากการสอบถามทีมแข่งในญี่ปุ่นได้รับคำตอบว่าที่นิยมขอบ14นิ้วมากขึ้น เนื่องจากมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ทำให้ควบคุมรถได้ง่ายและยางออกแบบมาให้สามารถลดแรงเสียดได้มากกว่าขอบ20นิ้ว ขณะเดียวกันยังมีหลายทีมที่ยังคงใช้ขอบ20นิ้วอยู่ ด้วยเหตุผลว่าการที่จะเปลี่ยนเป็นขอบ14นิ้ว นั้นต้องเปลี่ยนเฟรมและเป็นโครงสร้างทางแอโร่ไดนามิกส์ของรถประดิษฐ์ ซึ่งออกแบบมาแต่แรก หากจะเปลี่ยนอาจต้องใช้เวลา และเนื่องจากเส้นรอบวงสั้นลงในการขับขี่ที่ระยะเท่ากัน ทำให้เกิดการสึกหรอมากกว่า กล่าวคือมีอายุการใช้งานสั้นกว่านั่นเอง และที่สำคัญราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับไออาร์ซี อีโครัน 20นิ้ว (10,000 เยนต่อเส้น) ในขณะที่ 14นิ้ว เส้นละเกือบ 20,000 เยน เลยทีเดียว